Skip to main content

Corporate
Governance

(+66) 02 429 0354 - 7

TPBI Public Company Limited is a leading packaging company who has sustainable growth together with all stakeholders.

คณะกรรมการบริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) มีนโยบายที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท รวมทั้งได้ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ของบริษัทจดทะเบียน (The Principles of Good Corporate Governance of Listed Companies) ตามแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของบริษัทเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทำให้เกิดความโปร่งใสต่อนักลงทุนอันจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อบุคคลภายนอก และเผยแพร่ไปยังกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัท และผู้มีส่วนได้เสีย โดยอ้างอิงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2555 และหลักการกำกับกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560

โดยมีการกำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทครอบคลุมหลักการ 5 หมวด ดังนี้

Corporate Governance

  • The Rights of Shareholders

    บริษัทตระหนัก และให้ความสำคัญในสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ของผู้ถือหุ้นไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นรายย่อยผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้บริหาร หรือ ผู้ถือหุ้นที่มิได้เป็นผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยหรือต่างด้าว อย่างเป็นธรรมทั้งในฐานะของ นักลงทุนในหลักทรัพย์ และเจ้าของบริษัท เช่น สิทธิในการซื้อ ขาย โอนหลักทรัพย์ที่ตนถืออยู่ สิทธิในการที่จะได้รับส่วนแบ่ง ผลกำไรจากบริษัท สิทธิในการได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ สิทธิต่างๆ ในการประชุมผู้ถือหุ้น สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิใน การกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท สิทธิในการร่วมตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัท เช่น การจัดสรรเงินปันผล การแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ การแต่งตั้งผู้สอบบัญชี การอนุมัติธุรกรรมที่สำคัญและมีผลต่อทิศทาง ในการดำเนินธุรกิจของ บริษัท รวมถึงการแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับของบริษัท เป็นต้น

    ทั้งนี้ บริษัทมีพันธกิจในการส่งเสริม และอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้น ดังนี้

    1. กำหนดการจัดประชุมผู้ถือหุ้น

    บริษัทได้กำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปีละครั้ง ภายในเวลาไม่เกิน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของ บริษัท และในกรณีที่มีความจำเป็น เร่งด่วนต้องเสนอวาระเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบหรือเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นหรือเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ กฎหมายที่ใช้ บังคับที่ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น บริษัทจะเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเป็นกรณีไป ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งหรือหลายคน ซึ่งถือหุ้นรวมกันได้ไม่น้อย กว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด อาจเข้าชื่อกันทำหนังสือร้องขอให้คณะกรรมการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมวิสามัญได้ แต่ในหนังสือ ร้องขอนั้นจะต้องระบุเรื่องและเหตุผลในการขอให้เรียกประชุมไว้ให้ชัดเจนด้วย เมื่อมีคำร้องขอดังกล่าว คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นภายใน สี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอจากผู้ถือหุ้น ในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทจะใช้สถานที่ ซึ่งสะดวกแก่การเดินทาง โดยจะแนบแผนที่ซึ่งแสดง สถานที่จัดการประชุมผู้ถือหุ้นไว้ในหนังสือเชิญประชุม รวมถึงเลือกวันเวลาที่เหมาะสม และจัดสรรเวลาในการประชุมอย่างเพียงพอ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตาม นโยบายที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท


    2. การแจ้งเชิญประชุมล่วงหน้า

    บริษัทจัดทำหนังสือเชิญประชุมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ(หากมี) และเปิดเผยให้นักลงทุนทราบเป็นการทั่วไปล่วงหน้าก่อนการประชุม โดยแจ้งการเปิดเผยให้ทราบผ่านช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเปิดเผยข้อมูลในเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้มีเวลาศึกษาข้อมูลประกอบการประชุมล่วงหน้าอย่างเพียงพอ ในขณะที่บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัท จะเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งหนังสือเชิญประชุมพร้อมทั้งข้อมูลประกอบการประชุมวาระต่างๆ ให้ผู้ถือหุ้นรับทราบล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือระยะเวลาอื่นใดตามที่กฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องประกาศกำหนด ทั้งนี้รายละเอียดที่ปรากฏบนเว็บไซต์ และ ในเอกสารที่จัดส่งให้ผู้ถือหุ้นเป็นข้อมูลเดียวกัน โดยในแต่ละวาระการประชุมจะมีรายละเอียดวาระการประชุมระบุชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่จะเสนอเพื่อทราบ หรือเพื่ออนุมัติแล้วแต่กรณี รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการในเรื่องดังกล่าว ตลอดจนข้อมูลประกอบการประชุมที่เพียงพอ นอกจากนี้บริษัทยังลงประกาศบอกกล่าวการเชิญประชุม ผู้ถือหุ้นทางหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน โดยการลงประกาศดังกล่าวได้ดำเนินการลงล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 3 วันอีกด้วย


    3. การเข้าร่วมประชุม

    บริษัทจัดให้มีเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบเอกสารของผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุม ตามรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารหรือหลักฐานแสดงความเป็นผู้ถือหุ้น หรือผู้รับมอบฉันทะที่ได้แจ้งไว้ในหนังสือเชิญประชุมเพื่อรักษาสิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นสามารถลงทะเบียนเข้าประชุมล่วงหน้าได้ก่อนการประชุมอย่างเพียงพอ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้น บริษัทได้นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการลงทะเบียน พร้อมทั้ง จัดพิมพ์บัตรลงคะแนนในแต่ละวาระให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วย ส่งผลให้การลงทะเบียนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และถูกต้อง สำหรับผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ด้วยตนเอง และมีความประสงค์จะมอบฉันทะให้บุคคลอื่น หรือกรรมการอิสระของบริษัทเข้าประชุมแทนนั้น บริษัทได้เสนอชื่อกรรมการอิสระมากกว่า 1 คน พร้อมประวัติให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาในการมอบฉันทะ โดยผู้ถือหุ้นสามารถกำหนดทิศทางการลงคะแนนเสียงจากหนังสือมอบฉันทะดังกล่าวได้


    4. การเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถาม และแสดงความคิดเห็น

    ก่อนวันประชุม บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นส่งคำถามเกี่ยวกับบริษัทและวาระการประชุมเพื่อให้คณะกรรมการ และฝ่ายบริหารชี้แจงในวันประชุมผ่านทางโทรสาร และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์เป็นการล่วงหน้า

     

  • The Equitable Treatment
    of Shareholders

    บริษัทได้กำหนดให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นที่มิได้เป็นผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย หรือต่างด้าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้


    1. การเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอระเบียบวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการพิจารณาเลือกตั้งเป็นกรรมการ

    บริษัทจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถเสนอเรื่องที่เห็นว่าสำคัญและควรบรรจุเป็นระเบียบวาระในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และเสนอชื่อบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และคุณสมบัติที่เหมาะสมเป็นกรรมการมายังบริษัท โดยมีกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม และเพียงพอล่วงหน้าก่อนการประชุม ตามรูปแบบ และวิธีการที่บริษัทกำหนด โดยบริษัทจะเผยแพร่รูปแบบ และวิธีการดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท ในส่วนของวาระการประชุมนั้น คณะกรรมการจะพิจารณา ความเหมาะสมในการบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมในหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้น สำหรับข้อเสนอเกี่ยวกับบุคคลเพื่อเข้ารับการพิจารณาเลือกตั้งเป็นกรรมการ คณะกรรมการสรรหา และกำหนดค่าตอบแทนจะพิจารณาและเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเสนอผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นต่อไป สำหรับเรื่องที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และ/หรือ คณะกรรมการสรรหา และกำหนดค่าตอบแทน บริษัทจะแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบพร้อมชี้แจงเหตุผลในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น บนเว็บไซต์ของบริษัท หรือช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลอื่นที่เหมาะสมต่อไป


    2. การดำเนินการประชุมผู้ถือหุ้น และออกเสียงลงคะแนน

    บริษัทจะให้โอกาสแก่ผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน โดยก่อนเริ่มการประชุม ประธานในที่ประชุมจะแนะนำคณะกรรมการ ผู้บริหาร และผู้สอบบัญชีของบริษัท ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลางให้ที่ประชุมรับทราบ และชี้แจงวิธีการใช้สิทธิออกเสียง และวิธีนับคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นที่ต้องลงมติในแต่ละวาระ โดยผู้ถือหุ้นที่มาประชุมด้วยตนเอง หรือมีผู้แทนรับมอบฉันทะให้มาร่วมประชุม มีสิทธิออกเสียง 1 เสียงต่อ 1 หุ้น สำหรับการออกเสียงลงคะแนน บริษัทได้นำบัตรลงคะแนนมาใช้ในการออกเสียงในทุกวาระรวมทั้งวาระการพิจารณาเลือกตั้งกรรมการ เพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเพื่อให้การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นเป็นไปอย่างเท่าเทียมกันมากที่สุด ก่อนเริ่มพิจารณาระเบียบวาระต่างๆ จะมีการแจ้งจำนวนหรือสัดส่วนผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะที่เข้าร่วมประชุม และยังเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นและผู้รับมอบฉันทะที่เข้าร่วมประชุมทุกรายสามารถแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ รวมทั้งซักถามในแต่ละวาระโดยใช้เวลาอย่างเหมาะสมและเพียงพอ จากนั้นประธานในที่ประชุมและกรรมการจะตอบข้อซักถามอย่างชัดเจน ตรงประเด็น และให้ความสำคัญกับทุกคำถาม แล้วจึงให้ที่ประชุมออกเสียงลงมติในวาระนั้นๆได้ สำหรับวาระการเลือกตั้งกรรมการ ประธานในที่ประชุมจะดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นลงมติเป็นรายบุคคล โดยประธานในที่ประชุมจะดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระที่กำหนดไว้ รวมทั้งจะมิให้ผู้บริหารเพิ่มวาระการประชุมที่ไม่แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะวาระที่มีความสำคัญซึ่งผู้ถือหุ้นต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ ทั้งนี้ บริษัทได้จัดเก็บบัตรลงคะแนนเสียงจากผู้ถือหุ้นทุกรายในทุกวาระที่มีการลงคะแนนเสียง และดำเนินการนับคะแนนด้วยระบบ Barcode ที่มีความรวดเร็ว พร้อมประมวลผลอย่างถูกต้อง ในระหว่างการประชุมบริษัทได้แจ้งผลการนับคะแนนเสียงให้ผู้ถือหุ้นทราบในแต่ละวาระโดยแบ่งผลคะแนนเสียงเป็นจำนวนเสียงที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย งดออกเสียงและบัตรเสีย รวมทั้งบริษัทได้บันทึกมติที่ประชุมตามผลคะแนนของการออกเสียงในแต่ละวาระไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และเก็บบัตรลงคะแนนทุกใบเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ และบริษัทจัดให้มีบุคลากรที่เป็นอิสระทำหน้าที่ช่วยในการตรวจนับคะแนนเสียงในแต่ละวาระอีกด้วย


    3. แนวปฏิบัติเกี่ยวกับความขัดแย้งของผลประโยชน์สำหรับการประชุม

    บริษัทได้กำหนดให้กรรมการรายงานการมีส่วนได้เสียในวาระการประชุมใดๆ อย่างน้อยก่อนการพิจารณาในวาระ ที่เกี่ยวข้องในการประชุมคณะกรรมการบริษัทและบันทึกส่วนได้เสียดังกล่าวในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท รวมทั้งห้ามมิให้กรรมการที่มีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญ ในลักษณะที่จะไม่สามารถให้ความเห็นได้อย่างอิสระในวาระที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการประชุมในวาระนั้นๆ


    4. ผลการประชุมผู้ถือหุ้น

    บริษัทจะแจ้งมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นผ่านช่องทางการเปิดเผยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยทันทีภายในวันประชุม หรือช่วงเวลาก่อนเปิดการซื้อขายหลักทรัพย์รอบเช้าของวันทำการถัดไป เพื่อให้นักลงทุนทราบโดยทั่วกัน และจัดทำรายงานการประชุมที่มีสาระสำคัญครบถ้วน โดยมีการบันทึกคำชี้แจงที่เป็นสาระสำคัญ คำถามและความคิดเห็นต่างๆ และมติทั้งหมดของที่ประชุมผู้ถือหุ้นแยกเป็นคะแนนที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย งดออกเสียง และบัตรเสีย ซึ่งบริษัทจะนำส่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเผยแพร่รายงานดังกล่าวในเว็บไซต์ของบริษัท ภายใน 14 วันนับจากวันประชุมผู้ถือหุ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้พิจารณารับรองรายงานการประชุมว่าบันทึกไว้อย่างถูกต้องและครบถ้วน หากผู้ถือหุ้นมีความเห็นแก้ไขเพิ่มเติมประการใด สามารถแจ้งมายังบริษัทภายในระยะเวลาที่บริษัทกำหนด จากนั้นบริษัทจัดเก็บรายงานการประชุมไว้ ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัท นอกจากนี้บริษัทยังได้จัดให้มีการบันทึกเหตุการณ์การประชุมผู้ถือหุ้นลงบนแผ่นบันทึกภาพ (CD) เพื่อเผยแพร่แก่ผู้ถือหุ้นที่สนใจ โดยผู้ถือหุ้นสามารถแจ้งความจำนงขอรับแผ่นบันทึกภาพดังกล่าวได้ที่หน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์หรือเลขานุการบริษัท

  • The Role of stakeholders

    1.  นโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสีย

    บริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นธรรมและให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียภายใน ได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงานของบริษัท หรือผู้มีส่วนได้เสียภายนอก เช่น คู่ค้า ลูกค้า เป็นต้น และบริษัทตระหนักดีว่าการสนับสนุนและข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานและการพัฒนาธุรกิจของบริษัท ดังนั้น บริษัทจะปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สิทธิของผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวได้รับการดูแลเป็นอย่างดี นอกจากนี้ บริษัทยังคำนึงถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตามแนวทางดังต่อไปนี้

    พนักงาน :
    1) การจ้างงาน
    บริษัทมีนโยบายการจ้างงานที่มุ่งเน้นความเท่าเทียมกัน ไม่จำกัดหรือไม่กีดกันเรื่อง เพศ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และผู้พิการ
    2) การจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการ
    บริษัทมีนโยบายจ่ายค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรมตามระบบประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงความมั่นคงในสายอาชีพและโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพอย่างเป็นธรรม และจัดให้มีสวัสดิการด้านต่าง ๆ สำหรับพนักงานตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ประกันสังคม และนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด เช่น ประกันสุขภาพ, ประกันอุบัติเหตุ, เงินช่วยเหลือประเภทต่าง ๆ เป็นต้น
    3) การพัฒนาพนักงาน 
    บริษัทให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถและศักยภาพของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ เช่น การจัดอบรม การสัมมนา และการฝึกฝน ควบคู่กับการเปิดโอกาสในการเรียนรู้ พัฒนาความรู้ ความสามารถของพนักงานอย่างเต็มศักยภาพอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ และสร้างแรงจูงใจให้พนักงานที่มีความรู้ ความสามารถสูงให้คงอยู่กับบริษัทเพื่อพัฒนาองค์กรต่อไป อีกทั้ง บริษัทให้ความสำคัญต่อการเลื่อนตำแหน่งจากภายในและการประเมินผลการทำงาน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตของธุรกิจอย่างมั่นคงและแข็งแรง และยังได้กำหนดการอบรมทบทวนความรู้ประจำปีให้แก่พนักงานทุกระดับในเรื่องเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน จรรยาบรรณธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน เพื่อปลูกฝังให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
    4) การดูแลพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความปลอดภัยในการทำงาน
    บริษัทจัดให้มีสวัสดิการด้านสุขอนามัย ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานที่ดี โดยกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย มุ่งเน้นการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน เสริมสร้างให้พนักงานมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัย อีกทั้งมีการอบรมให้ความรู้ ส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพอนามัยที่ดี
    5) การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม
    บริษัทจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนพนักงานร่วมหารือ ให้คำปรึกษา เสนอแนะความเห็นให้แก่นายจ้างเรื่องการจัดสวัสดิการสำหรับพนักงาน ตรวจตรา ควบคุม ดูแล การจัดสวัสดิการที่เป็นประโยชน์สำหรับพนักงาน

    ลูกค้า : บริษัทรับผิดชอบต่อลูกค้าโดยการรักษาคุณภาพ มาตรฐานของสินค้าและบริการ รวมถึงความปลอดภัยของสินค้า ตลอดกระบวนการผลิตด้วยมาตรฐานการรับรองระดับสากล เพื่อให้ตรงตามความคาดหวังของลูกค้า และรับฟังเสียงจากลูกค้า เพื่อใช้วิเคราะห์กำหนดความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า สภาพการแข่งขัน เทคโนโลยี แนวโน้มพฤติกรรมลูกค้า และความต้องการในอนาคตของลูกค้า โดยนำไปพิจารณาร่วมกับสารสนเทศอื่น ๆ ได้แก่ นโยบายรัฐ กฎระเบียบ นวัตกรรมเทคโนโลยี ข้อมูลการเงินและเศรษฐกิจ เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าให้ครบถ้วน และครอบคลุมให้มากที่สุดทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อมุ่งเน้นการสร้าง ความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าในระยะยาว นอกจากนี้ บริษัทยังมีระบบการประเมินความพึงพอใจและพัฒนาความพึงพอใจของลูกค้า โดยพิจารณาร่วมกับพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าโดยตรง เพื่อให้ผลการสำรวจสะท้อนการดำเนินงานในปัจจุบัน และเพิ่มโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจในอนาคตได้ชัดเจนมากขึ้น
    อีกทั้งบริษัทยังให้บริการหลังการขายตลอดช่วงอายุสินค้าและบริการ ตลอดจนให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินค้าและบริการของบริษัท รวมทั้งยังจัดให้มีช่องทางให้ลูกค้าสามารถแจ้งปัญหาหรือการให้บริการที่ไม่เหมาะสมเพื่อที่บริษัทจะได้ป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสินค้าและบริการของบริษัทได้อย่างรวดเร็ว โดยกำหนดให้มีการตอบกลับไปยังลูกค้า ทุกรายภายหลังที่มีการแก้ไขแล้วเสร็จ มีการสอบถามถึงความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาของบริษัทพร้อมแจ้ง แผนการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า และยังคงใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญต่อการรักษาความลับของลูกค้า และไม่นำความลับของลูกค้าไปใช้เพื่อประโยชน์โดยมิชอบ มีการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

    คู่ค้า : บริษัทมีกระบวนการในการคัดเลือกคู่ค้า ด้วยความยุติธรรมภายใต้หลักเกณฑ์การประเมินและการคัดเลือกคู่ค้าของบริษัท โดยคู่ค้าจะแข่งขันบนข้อมูลที่เท่าเทียมกัน โปร่งใส นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดทำรูปแบบสัญญาหรือข้อตกลงที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่คู่สัญญาทุกฝ่าย และจัดให้มีระบบติดตามเพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้าจะเคารพสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติต่อแรงงานของตนเองอย่างเป็นธรรม รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาหรือข้อตกลงอย่างครบถ้วน และป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดหา โดยบริษัทซื้อสินค้าจากคู่ค้าตามเงื่อนไขทางการค้าตลอดจนปฏิบัติตามสัญญาต่อคู่ค้าอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ บริษัทยังมีกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมศักยภาพและความสามารถของคู่ค้า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของทั้งบริษัทและคู่ค้าด้วย
    เจ้าหนี้ : บริษัทจะปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ตามสัญญาและข้อผูกพันที่มีต่อเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งเรื่องเงื่อนไขค้ำประกัน การบริหารเงินทุน การชำระคืนเงินต้น การไม่ผิดนัดชำระหนี้ ดอกเบี้ยและการดูแลหลักประกันต่าง ๆ ภายใต้สัญญาที่เกี่ยวข้องที่ได้ให้ข้อตกลงไว้กับเจ้าหนี้ บริษัทจะต้องชำระคืนเงินกู้ และดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้เงินกู้ยืมทุกประเภทอย่างครบถ้วนตามกำหนดเวลา และปฏิบัติตามเงื่อนไข
    การกู้ยืมเงินตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด โดยไม่ใช้เงินกู้ยืมไปในทางที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงิน ตลอดจนไม่ใช้วิธีการที่ไม่สุจริตในการปกปิดข้อมูลหรือข้อเท็จจริง อันจะทำให้เจ้าหนี้เกิดความเสียหาย กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ต้องรีบแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบล่วงหน้า เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไข

    คู่แข่ง : บริษัทประพฤติตามกรอบการแข่งขันที่เป็นธรรมและซื่อสัตย์สุจริต มีจรรยาบรรณและอยู่ในกรอบของกฎหมาย รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบคู่แข่ง ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับโดยวิธีการมิชอบ ละเว้นจากการกล่าวโจมตีคู่แข่ง หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการผูกขาดหรือลดการแข่งขันหรือจำกัด การแข่งขันในตลาด หรืออาจมีผลกระทบในทางลบต่ออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ การเรียก รับ และการให้ประโยชน์ใด ๆ ที่ไม่สุจริตทางการค้า

    ชุมชนและสังคม : บริษัทใส่ใจและตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และความปลอดภัยของผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัท และส่งเสริมให้พนักงานของบริษัทมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม มุ่งสนับสนุนกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างประโยชน์สุขของชุมชน ใช้ทรัพยากรและ ความเชี่ยวชาญอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมทั้งจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ บริษัทมีการพัฒนาสินค้าหรือวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

    ผู้ถือหุ้น : บริษัทมุ่งมั่นพิทักษ์สิทธิขั้นพื้นฐานและปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม บริษัทจะดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างผลการดำเนินงานที่ดีและการเจริญเติบโตที่มั่นคง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาวและยั่งยืน รวมทั้งดำเนินการเปิดเผยข้อมูลด้วย ความโปร่งใสและเชื่อถือได้ต่อผู้ถือหุ้น

    หน่วยงานราชการ : บริษัทให้ความสำคัญกับหน่วยงานราชการในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย โดยให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ ทั้งทางด้านวิชาการและกิจกรรมอื่น ๆ

    ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ผู้นำความคิด :บริษัทดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยเปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจที่ครบถ้วน โปร่งใส ตรวจสอบได้ และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการประสานความร่วมมือ เพื่อการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนเคียงคู่กันไปกับการพัฒนาชุมชนและสังคม

    นอกจากนี้ ผู้มีส่วนได้เสียสามารถสอบถามรายละเอียด แจ้งข้อร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแสการกระทำผิดทางกฎหมาย ความไม่ถูกต้องของรายงานทางการเงิน ระบบควบคุมภายในที่บกพร่อง หรือการผิดจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท ผ่านกรรมการอิสระ หรือคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยิ่งขึ้น บริษัทจัดให้มีช่องทางติดต่อที่หลากหลาย อาทิ เว็บไซต์บริษัท โทรศัพท์ หรืออีเมล์ และจัดให้มีหน่วยงานเฉพาะ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียแสดงความคิดเห็น ร้องเรียน หรือเสนอเรื่องสำคัญอื่นๆ ต่อบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จัดให้หน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์และเลขานุการบริษัทรับผิดชอบในการรับความคิดเห็น ข้อร้องเรียนต่างๆ จากผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ขณะที่ตัวแทนฝ่ายบริหารและฝ่ายทรัพยากรมนุษย์รับผิดชอบในการรับข้อคิดเห็นและเรื่องราวร้องทุกข์จากพนักงาน ทั้งนี้บริษัทได้จัดทำวิธีปฏิบัติงานต่อข้อร้องเรียนของผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ อย่างชัดเจน เพื่อรักษาสิทธิรวมถึงคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ร้องเรียน โดยผู้ร้องเรียนดังกล่าวจะได้รับความคุ้มครองและเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวไว้เป็นความลับซึ่งเข้าถึงได้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง ในกรณีมีข้อร้องเรียนว่าอาจมีการกระทำความผิดจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงและผู้แทนจากส่วนงานที่ไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องดังกล่าว เพื่อสอบสวนและดำเนินการตามข้อบังคับทางวินัยของบริษัท และรายงานต่อคณะการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัทต่อไป

    ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน
           บริษัทกำหนดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน โดยผู้ร้องเรียนสามารถร้องเรียนได้ 6 ช่องทาง ดังนี้

    ช่องทางที่ 1  การร้องเรียนด้วยตนเองที่สำนักงานใหญ่ 
                        บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน)
                        42/174 หมู่ 5 ซอยศรีเสถียรนิเวศน์ ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73210

    ช่องทางที่ 2  การร้องเรียนโดยจัดทำเป็นหนังสือ และส่งมาที่ 
                         เลขานุการบริษัท  บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน)                             
                          42/174 หมู่ 5 ซอยศรีเสถียรนิเวศน์ ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73210

    ช่องทางที่ 3  การร้องเรียนทางโทรศัพท์หรือโทรสาร
                         โทรศัพท์ 0-2429-0354-7 ต่อ 501 หรือ โทรสาร 0-2429-0358

    ช่องทางที่ 4  การร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท (www.tpbigroup.com)

    ช่องทางที่ 5  การร้องเรียนผ่านทางอีเมล์
                         คณะกรรมการตรวจสอบ : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
                         นักลงทุนสัมพันธ์ : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
                         เลขานุการบริษัท : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

    ช่องทางที่ 6  กล่องรับความคิดเห็น สำหรับพนักงาน

     

    2. นโยบายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

               บริษัทตระหนักดีว่าความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พนักงานทุกคนพึงจะได้รับ พร้อมทั้งให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงจัดทำนโยบายลดความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ดังนี้

    “สร้าง, รักษา และปฏิบัติตามจิตสำนึกด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างจริงจัง เพื่อลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วย, การเกิดอุบัติเหตุ เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุคลากรทุกคน”

    ทั้งนี้บริษัทได้ทบทวน ปรับปรุง การดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวทางการปฏิบัติให้สอดคล้องกับการดำเนินงานปัจจุบันของบริษัท โดยมีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ ตลอดจนสื่อสารความเข้าใจแก่พนักงาน ผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท ตามแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้

    • บุคลากรทุกคนปฏิบัติตามกฏระเบียบ และต้องให้ความร่วมมือกับนโยบายและกิจกรรมทางด้าน
      อาชีวอนามัย และความปลอดภัยของบริษัท
    • ปฏิบัติตามกฏหมาย ข้อบังคับด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธุรกิจทั้งหมดของบริษัท
    • ป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดอัคคีภัย เพื่อความปลอดภัยของพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบ
    • สนับสนุนทรัพยากรต่างๆ เพื่อใช้ในการป้องกันและลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บและเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงานกับเครื่องจักรและสารเคมี
    • ส่งเสริมและสนับสนุนข้อมูลในการดูแลสุขภาพ เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของพนักงานทุกคน
    • สื่อสารเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานและนโยบายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้แก่ชุมชน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน
    • มุ่งเน้นการปลูกจิตสำนึกด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทุกระดับ
    • มุ่งเน้นที่จะลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงานทั้งพนักงาน โดยควบคุมความเสี่ยงในการทำงานอย่างต่อเนื่อง
    • มุ่งมั่นต่อการดำเนินกิจกรรม การให้คำปรึกษา และการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานรวมถึงตัวแทนผู้ปฏิบัติงาน

     

    3. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

               เนื่องด้วยบริษัทดำเนินธุรกิจผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นๆ มีความมุ่งมั่นในความรับผิดชอบต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการทบทวน ปรับปรุง การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทบทวนแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับการดำเนินงานปัจจุบันของบริษัท โดยจัดทำเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้

    “โรงงานสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นของชุมชน และผู้มีส่วนได้เสีย”

    • การดูแลสิ่งแวดล้อมในการทำงานเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกคน
    • สนับสนุนทรัพยากรต่างๆ เพื่อใช้ในการปรับปรุงงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน และลดปริมาณของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตให้บรรลุตามเป้าหมาย
    • ควบคุมคุณภาพน้ำทิ้ง เสียงรบกวน และอากาศที่ปล่อยออกนอกบริษัท ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและดำเนินการจัดการขยะ ของเสียให้ถูกต้องตามที่กฏหมายกำหนด เพื่อป้องกันมิให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท
    • สื่อสารเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน
    • มุ่งเน้นการปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่บุคลากรทุกระดับ
    • มุ่งมั่นต่อการดำเนินกิจกรรม การให้คำปรึกษา และการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานรวมถึงตัวแทนผู้ปฏิบัติงาน

     

    4. นโยบายการอนุรักษ์พลังงาน

               บริษัทได้กำหนดนโยบายการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานด้านพลังงาน และเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

                    “ สร้างนิสัย  ร่วมใจพัฒนา  พลังงานคุ้มค่า  แสวงหามาตรการ  รวมผู้บริหารและพนักงานเป็นหนึ่งเดียว”

    • การใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่า โดยการสร้างค่านิยมและจิตสำนึกในการใช้พลังงาน
    • การใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าจะต้องมีการวางแผนและควบคุมการใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด มีการลดการสูญเสียพลังงานทุกขั้นตอน โดยมีการตรวจและการดูแลการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา เพื่อลดการรั่วไหลของพลังงาน เป็นต้น
    • การใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานที่ได้จากธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และอื่นๆ
    • การเลือกใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 หลอดผอมประหยัดไฟฟ้า
    • การเพิ่มประสิทธิภาพเชื้อเพลิง เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทำให้เชื้อเพลิงให้พลังงานได้มากขึ้น
    • การหมุนเวียนกลับมาใช้ โดยการนำวัสดุที่ชำรุดนำมาซ่อมใช้ใหม่ การลดทิ้งขยะที่ไม่จำเป็นหรือการหมุนเวียนกลับมาผลิตใหม่ (Recycle)

    นอกจากการอนุรักษ์พลังงานแล้ว บริษัทยังสนับสนุนให้พนักงานใช้ทรัพยากร ได้แก่ น้ำ สารเคมีอย่างคุ้มค่าเป็นไปตามเป้าหมาย และดำเนินการทบทวนปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรขององค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดการใช้ทรัพยากรของธุรกิจ และมีการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ มีการนำของเสียมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

     

    5. แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

               บริษัทมีการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม โดยยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน จึงได้มีการกำหนดกรอบการพัฒนาสู่ความยั่งยืน โดยครอบคลุมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่สอดคล้องกันในทุกธุรกิจ

  • Disclosure and
    Transparency

    1. คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูลที่มีความถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ โปร่งใส ในเวลาที่เหมาะสม ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทั่วไป ตลอดจนข้อมูลอื่นที่มีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัท ซึ่งล้วนมีผลต่อกระบวนการตัดสินใจของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท โดยบริษัทจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


    2. บริษัทจะจัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) เพื่อทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้น โดยบริษัทจะจัดให้มีการประชุมเพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินงานเป็นประจำ รวมทั้งจะเผยแพร่ข้อมูลของบริษัท ข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทั่วไปของบริษัทให้แก่ผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุน และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องรับทราบผ่านช่องทางต่างๆ กล่าวคือ การรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเว็บไซต์ของบริษัทในหัวข้อ “นักลงทุนสัมพันธ์” เพื่อให้ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลได้โดยสะดวก นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลอย่างสม่ำเสมอทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับข่าวสารเป็นประจำผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท โดยข้อมูลที่อยู่บนเว็บไซต์ของบริษัทจะมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวรวมถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ งบการเงิน ข่าวประชาสัมพันธ์ รายงานประจำปี โครงสร้างบริษัทและผู้บริหาร ตลอดจนโครงสร้างการถือหุ้นและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หนังสือเชิญประชุม เอกสารทางทะเบียนของบริษัท กฎบัตรต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเผยแพร่และชี้แจงข้อมูล รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมซักถามข้อมูลอย่างโปร่งใส โดยมีผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมชี้แจงด้วย


    3. บริษัทให้ความสำคัญต่องบการเงินของบริษัท และสารสนเทศทางการเงินที่ปรากฏในรายงานประจำปี โดยคณะกรรมการตรวจสอบจะเป็นผู้สอบทานคุณภาพของรายงานทางการเงินและระบบควบคุมภายใน รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างเพียงพอในหมายเหตุประกอบงบการเงินและรายงานให้คณะกรรมการบริษัททราบ และจะจัดให้มีรายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อรายงานทางการเงินแสดงควบคู่กับรายงานของผู้สอบบัญชีในรายงานประจำปี นอกจากนี้ คณะกรรมการยังสนับสนุนให้มีการจัดทำคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (Management Discussion and Analysis) เพื่อประกอบการเปิดเผยงบการเงินในทุกไตรมาส


    4. บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรรมการแต่ละท่าน บทบาท และหน้าที่ของประธานกรรมการ คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการชุดย่อยของบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จำนวนครั้งของการประชุมและการเข้าประชุมในปีที่ผ่านมา และความเห็นจากการทำหน้าที่ รวมทั้งการฝึกอบรมและพัฒนาความรู้ด้านวิชาชีพอย่างต่อเนื่องในรายงานประจำปี และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีของบริษัท รวมถึงการเปิดเผยนโยบายการจ่ายค่าตอบแทน ลักษณะและรายละเอียดของค่าตอบแทนของกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในบริษัทและบริษัทย่อย (หากมี) ด้วย


    5. บริษัทจะเปิดเผยค่าสอบบัญชีและค่าบริการอื่นที่ผู้สอบบัญชีให้บริการ


    6. บริษัทจะจัดให้มีรายงานการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณธุรกิจ การบริหารความเสี่ยง และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่คณะกรรมการบริษัทได้ให้ความเห็นชอบไว้ โดยจะสรุปผลการปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว รวมทั้งกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ พร้อมด้วยเหตุผล โดยรายงานผ่านช่องทางต่างๆ เช่น รายงานประจำปี และเว็บไซต์ของบริษัท เป็นต้น

    7.      บริษัทดำเนินธุรกิจโดยไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กระทำการหรือแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา (Copy Rights and Intellectual Property Rights) เว้นแต่บริษัทจะได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ยังมีการกำหนดนโยบายการใช้งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการตรวจสอบการใช้ระบบโปรแกรมซอฟต์แวร์การทำงานของพนักงานเพื่อป้องกันการใช้ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

    8.      บริษัทมีการขจัดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างรอบคอบ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีเหตุผลและเป็นอิสระภายใต้กรอบจริยธรรมที่ดี เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นสำคัญ โดยกำหนดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวโยงกับรายการที่พิจารณาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้เสียของตนและผู้ที่เกี่ยวข้องให้บริษัททราบ และต้องไม่เข้าร่วมการพิจารณา รวมถึงไม่มีอำนาจอนุมัติในรายการดังกล่าว

    9.      บริษัทมีนโยบายในการทำรายการเกี่ยวโยงกัน และรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่สอดคล้องกับกฎหมาย ตลอดจนข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งจะเปิดเผยรายการดังกล่าวไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และแบบรายงานประจำปี

    10.    บริษัทได้จัดให้มีระบบการควบคุมภายในเพื่อการกำกับดูแลและการควบคุมภายใน ทั้งในระดับบริหารและระดับปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ โดยจัดให้มีหน่วยงานตรวจสอบภายในของบริษัทและ/หรือหน่วยงานภายนอก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบควบคุมภายใน เพื่อทำหน้าที่ประเมินความเพียงพอของระบบควบคุมภายในและรายงานผลต่อคณะกรรมการตรวจสอบตามแผนการตรวจสอบที่วางไว้ โดยการควบคุมภายในดังกล่าวยังคงความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน พนักงานสามารถควบคุม กำกับ ประเมินผล และสอบทานการทำงานได้ด้วยตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจและการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง ป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย

    11.    บริษัทได้จัดให้มีการกำกับดูแลระบบและกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทอย่างเหมาะสม จึงได้มีการกำหนดนโยบายบริหารความเสี่ยง รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (ซึ่งรายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ) ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง โดยคณะทำงานบริหารความเสี่ยงได้จัดทำรายงานความเสี่ยงองค์กรและแผนบริหารความเสี่ยงเป็นประจำทุกปี โดยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงของหน่วยงานต่างๆ วิเคราะห์ความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ประเมินระดับความสำคัญของความเสี่ยง ผลกระทบ และกำหนดกิจกรรมควบคุมไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ บริษัทยังได้มีการกำหนดการประเมินโอกาสที่จะเกิดการทุจริตในรูปแบบต่างๆ รวมถึงความเสี่ยงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินความเสี่ยงของบริษัท และได้รายงานผลการประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

    12.    บริษัทมุ่งมั่นที่จะให้กรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน รักษามาตรฐานในเรื่องความซื่อสัตย์และจริยธรรม ครอบคลุมการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต้องได้รับการเปิดเผยและจัดการอย่างเหมาะสม ให้มั่นใจว่าบุคคลที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอย่างมีสาระสำคัญไม่มีส่วนในกระบวนการตัดสินใจในเรื่องนั้น รวมถึงไม่อนุญาตให้พนักงานรับหรือเสนอเงินสด ของขวัญที่มีมูลค่า หรือผลประโยชน์อื่นใด ซึ่งอาจตีความว่าเป็นการรับหรือให้สินบน รวมถึงประเด็นด้านจริยธรรมต้องได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส    

    13.    บริษัทไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการถือหุ้นในลักษณะที่บริษัท 2 บริษัทหรือมากกว่านั้นถือหุ้นซึ่งกันและกัน เพื่อเกาะกลุ่มทางธุรกิจ หรือเพื่อสร้างโครงสร้างของกลุ่มบริษัท อาทิเช่น การถือหุ้นไขว้ (Cross Holding) หรือการถือหุ้นแบบ
    ปิรามิด (Pyramid Holding)

     

  • Responsibilities
    of the Board of Directors

    1. โครงสร้างคณะกรรมการ และคณะกรรมการชุดย่อย

    คณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วยบุคคลซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ทักษะ ความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ความซื่อสัตย์ ความสามารถในการให้ความเห็นที่เป็นอิสระ และประสบการณ์ที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท โดยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและภาพรวมขององค์กร ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำในการกำกับดูแลกิจการ การตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งคณะกรรมการบริษัทมีความหลากหลาย (Board Diversity) โดยมีทักษะสอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัท ผ่านการจัดทำตารางความรู้ความชำนาญ (Board Skills Matrix

    คณะกรรมการบริษัทมีไม่เกิน 12 ท่าน ประกอบด้วยกรรมการบริษัทที่เป็นผู้บริหาร (Executive Directors) และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร (Non-executive Directors) โดยมีกรรมการที่มีคุณสมบัติเป็นอิสระไม่น้อยกว่า 3 ท่าน ซึ่งคิดเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการบริษัททั้งคณะ อันจะทำให้เกิดการถ่วงดุลในการพิจารณาและออกเสียงใน เรื่องต่างๆ อย่างเหมาะสม ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน 3 ปีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด และกรรมการอิสระมีวาระการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องไม่เกิน 9 ปี นับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระครั้งแรก และหากจะแต่งตั้งกรรมการอิสระรายเดิมให้ดำรงตำแหน่งต่อไปต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการอย่างสมเหตุสมผล นอกจากนี้กรรมการและผู้บริหารของบริษัทสามารถเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทในเครือหรือบริษัทอื่นได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้การเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนของกรรมการแต่ละท่าน รวมแล้วไม่เกิน 5 บริษัท เพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่

    ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทไม่เป็นผู้บริหารระดับสูง และยังสถานะเป็นกรรมการอิสระและกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร เพื่อให้มั่นใจว่ามีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างคณะกรรมการและคณะผู้บริหารอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ประธานกรรมการบริษัทจะไม่เป็นสมาชิกในคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน เพื่อให้คณะกรรมการชุดย่อยดังกล่าว เสนอความคิดได้อย่างอิสระ นอกจากนี้คณะกรรมการได้แบ่งแยกบทบาทและความรับผิดชอบออกจากคณะผู้บริหารอย่างชัดเจน เพื่อการถ่วงดุลอำนาจและป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจเบ็ดเสร็จ

    ทั้งนี้ บริษัทได้จัดให้มีเลขานุการบริษัท เพื่อทำหน้าที่ในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะกรรมการบริษัท และการประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งสนับสนุนงานของคณะกรรมการบริษัทโดยการให้คำแนะนำในเรื่องข้อกำหนดตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท รวมทั้งประสานงานให้มีการปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการบริษัท นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนในการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะด้านของคณะกรรมการบริษัทให้การกำกับดูแลกิจการบรรลุเป้าหมายสูงสุด และรักษามาตรฐานการดำเนินงานในระดับสูง คณะกรรมการบริษัทได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของคณะกรรมการบริษัทในการสอบทานหรือพิจารณาศึกษาเรื่องต่างๆ ที่สำคัญในรายละเอียด ดังนี้

    1.1 คณะกรรมการตรวจสอบ ประกอบด้วยกรรมการอิสระจำนวนอย่างน้อย 3 ท่าน เพื่อทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนคณะกรรมการบริษัทในการกำกับดูแลและตรวจสอบการบริหารงาน การควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง และธรรมาภิบาล รวมทั้งการจัดทำรายงานทางการเงิน เพื่อให้การปฏิบัติงานและการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทเป็นไปอย่างโปร่งใสและน่าเชื่อถือ โดยคณะกรรมการตรวจสอบได้มีการแต่งตั้งเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อทำหน้าที่ในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ รวมทั้งสนับสนุนงานของคณะกรรมการตรวจสอบโดยการให้คำแนะนำในเรื่องข้อกำหนดตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ และประสานงานให้มีการปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการตรวจสอบ

    1.2 คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน ประกอบด้วยกรรมการบริษัทจำนวนอย่างน้อย 3 ท่าน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการอิสระอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนทั้งหมด และประธานคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนเป็นกรรมการอิสระ เพื่อทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัท รวมทั้งพิจารณารูปแบบ และหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนของกรรมการและผู้บริหารระดับสูงเพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ หรือนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติต่อไป (แล้วแต่กรณี)

    1.3 คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ประกอบด้วยกรรมการบริษัทจำนวนอย่างน้อย 3 ท่าน และกรรมการท่านหนึ่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลระบบและกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัท

    1.4 คณะกรรมการบรรษัทภิบาล ประกอบด้วยกรรมการบริษัทจำนวนอย่างน้อย 3 ท่าน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการอิสระอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการบรรษัทภิบาลทั้งหมด และประธานคณะกรรมการบรรษัทภิบาลเป็นกรรมการอิสระ เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลงานด้านกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท

     

    2. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

    คณะกรรมการบริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท และมีหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของบริษัท รวมทั้งกำกับดูแลให้การบริหารจัดการเป็นไปตามเป้าหมายและแนวทางเพื่อประโยชน์ระยะยาวแก่ผู้ถือหุ้นภายใต้กรอบข้อกำหนดของกฎหมายและหลักจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

    2.1 การกำกับดูแลกิจการ บริษัทได้จัดให้มีนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้ให้ความเห็นชอบนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้ การจัดทำนโยบายการกำกับดูแลกิจการมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางแก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ในการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว โดยบริษัทจะจัดให้มีการทบทวนนโยบายดังกล่าวเป็นประจำทุกปี

    2.2 หลักจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ บริษัทมีเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างโปร่งใส มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทได้กำหนดข้อพึงปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติ ดังนี้

    ก. จรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น
    ข. จรรยาบรรณว่าด้วยความสัมพันธ์ต่อพนักงาน
    ค. จรรยาบรรณว่าด้วยความสัมพันธ์ต่อคู่ค้า
    ง. จรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อลูกค้า
    ฉ. จรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อคู่แข่ง
    ช. จรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม

    ทั้งนี้ บริษัทจะประกาศและแจ้งให้พนักงานทุกคนรับทราบ และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีการติดตามการปฏิบัติดังกล่าว

    2.3 การไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา บริษัทดำเนินธุรกิจโดยไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กระทำการหรือแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา (Copy Rights and Intellectual Property Rights) เว้นแต่บริษัทจะได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย บริษัทมีการกำหนดนโยบายการใช้งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการตรวจสอบการใช้ระบบโปรแกรมซอฟต์แวร์การทำงานของพนักงานเพื่อป้องกันการใช้ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

    2.4 ความปลอดภัยระบบสารสนเทศ บริษัทจัดทำนโยบายและกำหนดมาตรฐาน แนวทางปฏิบัติให้ผู้บริหาร พนักงานและบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับบริษัท ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยด้านสารสนเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล การป้องกันการแก้ไขข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต การสำรองข้อมูล และการเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและมีความปลอดภัยในการใช้งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของบริษัท โดยทำการเผยแพร่ให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับในบริษัทได้รับทราบและเจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องลงนามยอมรับและปฏิบัติตามนโยบายนี้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งมีระบบติดตามการปฏิบัติงานของพนักงานให้เป็นไปตามนโยบาย และมีการตรวจสอบประเมินความเพียงพอของนโยบายและระบบควบคุมโดยหน่วยงานที่เป็นอิสระอย่างน้อยปีละครั้ง

    2.5 ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ บริษัทมีการขจัดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างรอบคอบ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีเหตุผลและเป็นอิสระภายใต้กรอบจริยธรรมที่ดี เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นสำคัญ โดยกำหนดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวโยงกับรายการที่พิจารณาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้เสียของตนและผู้ที่เกี่ยวข้องให้บริษัททราบ และต้องไม่เข้าร่วมการพิจารณา รวมถึงไม่มีอำนาจอนุมัติในรายการดังกล่าว

    บริษัทมีนโยบายในการทำรายการเกี่ยวโยงกัน และรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่สอดคล้องกับกฎหมาย ตลอดจนข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งจะเปิดเผยรายการดังกล่าวไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และแบบรายงานประจำปี

    2.6 การควบคุมภายใน บริษัทได้จัดให้มีระบบการควบคุมภายในเพื่อการกำกับดูแลและการควบคุมภายใน ทั้งในระดับบริหารและระดับปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ โดยบริษัทได้จัดให้มีหน่วยงานตรวจสอบภายในของบริษัทและ/หรือหน่วยงานภายนอก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบควบคุมภายใน เพื่อทำหน้าที่ประเมินความเพียงพอของระบบควบคุมภายในและรายงานผลต่อคณะกรรมการตรวจสอบตามแผนการตรวจสอบที่วางไว้

    2.7 การบริหารความเสี่ยง บริษัทได้จัดให้มีการกำกับดูแลระบบและกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทอย่างเหมาะสม จึงได้มีการกำหนดนโยบายบริหารความเสี่ยง รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (ซึ่งรายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ) ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง โดยคณะทำงานบริหารความเสี่ยงได้จัดทำรายงานความเสี่ยงองค์กรและแผนบริหารความเสี่ยงเป็นประจำทุกปี โดยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงของหน่วยงานต่างๆ วิเคราะห์ความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ประเมินระดับความสำคัญของความเสี่ยง ผลกระทบ และกำหนดกิจกรรมควบคุมไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ บริษัทยังได้มีการกำหนดการประเมินโอกาสที่จะเกิดการทุจริตในรูปแบบต่างๆ รวมถึงความเสี่ยงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินความเสี่ยงของบริษัท และได้รายงานผลการประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

    2.8 รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่สอบทานรายงานทางการเงิน โดยมีฝ่ายบัญชีและผู้สอบบัญชีมาประชุมร่วมกัน และนำเสนอรายงานทางการเงินต่อคณะกรรมการบริษัททุกไตรมาส โดยคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบต่องบการเงินรวมของบริษัทและบริษัทย่อย รวมทั้งสารสนเทศทางการเงินที่ปรากฏในรายงานประจำปี

     

    3. การประชุมคณะกรรมการบริษัท

    บริษัทจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อย 7ครั้งต่อปี โดยกำหนดตารางการประชุมล่วงหน้าตลอดทั้งปี และแจ้งให้คณะกรรมการทราบล่วงหน้าก่อนสิ้นปีของปีปัจจุบัน เพื่อวางแผนเข้าร่วมประชุม และอาจมีการประชุมพิเศษเพิ่มตามความจำเป็น โดยมีการกำหนดวาระประชุมชัดเจนล่วงหน้า และมีวาระพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานเป็นประจำ บริษัทจะจัดส่งหนังสือเชิญประชุมพร้อมระเบียบวาระการประชุม และเอกสารประกอบการประชุมให้กรรมการทุกท่านล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วันก่อนวันประชุม เพื่อให้คณะกรรมการได้มีเวลาศึกษาข้อมูลอย่างเพียงพอก่อนเข้าร่วมประชุม เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน และจะจัดให้มีการบันทึกรายงานการประชุมและจัดเก็บรวบรวมเอกสารที่รับรองแล้วเพื่อใช้ในการอ้างอิง และสามารถตรวจสอบได้ โดยในการประชุมทุกครั้ง บริษัทจะจัดให้มีผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลและรายละเอียดประกอบการตัดสินใจที่ถูกต้องและทันเวลา

    ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทจะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะครบองค์ประชุมตามนโยบายกำกับดูแลกิจการ ในการลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทให้ถือมติของเสียงข้างมาก โดยให้กรรมการหนึ่งคนมีหนึ่งเสียง และขณะที่คณะกรรมการบริษัทลงมติ ต้องมีกรรมการอยู่ในที่ประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่มาประชุม โดยกรรมการที่มีส่วนได้เสียในวาระใดจะไม่เข้าร่วมประชุมและใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในวาระนั้น ทั้งนี้ ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมจะออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

     

    4. การประเมินผลงานของคณะกรรมการ

    คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเลขานุการบริษัทจะเป็นผู้ส่งแบบประเมินผลคณะกรรมการให้แก่คณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย เพื่อใช้ประเมินการทำงานของคณะตนเอง และส่งแบบประเมินประธานเจ้าหน้าที่บริหารให้แก่ประธานกรรมการ และคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน สำหรับใช้ประเมินการทำงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จากนั้นรวบรวมคะแนน และสรุปผลต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาทบทวนผลงาน ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานระหว่างปีที่ผ่านมาและปรับปรุงแก้ไขต่อไป โดยมีเกณฑ์การประเมินผลคิดเป็นร้อยละจากคะแนนเต็ม ดังนี้

    ร้อยละ 90 – 100 = ดีเยี่ยม
    ร้อยละ 76 – 89 = ดีมาก
    ร้อยละ 66 – 75 = ดี
    ร้อยละ 50 – 65 = พอใช้
    ต่ำกว่าร้อยละ 50 = ควรปรับปรุง


    5. แผนการกำหนดผู้สืบทอดตำแหน่ง (Succession Planning)

    บริษัทได้มีการกำหนดผู้สืบทอดตำแหน่งงานที่สำคัญ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นและต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการมอบหมายให้คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนดำเนินการดูแลให้มีการจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งของผู้บริหารสูงสุดของบริษัท และทบทวนแผนดังกล่าวเป็นระยะเพื่อความเหมาะสม โดยพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ เช่น คุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ของแต่ละตำแหน่งงาน และประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายเหมาะสมที่สามารถสืบทอดในแต่ละตำแหน่ง

     

    6. ค่าตอบแทน

    เพื่อให้การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการมีความโปร่งใสและเหมาะสมกับหน้าที่รับผิดชอบ คณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้คณะกรรมการสรรหา และกำหนดค่าตอบแทนกำหนดนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่กรรมการภายใต้หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและโปร่งใส โดยค่าตอบแทนดังกล่าวจะต้องเหมาะสมกับหน้าที่ และความรับผิดชอบ โดยกรรมการที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่และความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น ควรได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายนั้น คณะกรรมการสรรหา และกำหนดค่าตอบแทนจะนำเสนอผลการพิจารณาต่อที่ประชุมคณะกรรมการ หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติค่าตอบแทนกรรมการต่อไป ทั้งนี้ค่าตอบแทนดังกล่าวจะต้องไม่สูงเกินความจำเป็น และสามารถเทียบเคียงได้กับอัตราทั่วไปของธุรกิจเดียวกัน โดยพิจารณาจากประสบการณ์ ความชำนาญ ความตั้งใจและความทุ่มเทในการปฏิบัติงาน ประกอบกับผลงานหรือประโยชน์ที่กรรมการรายนั้นทำให้แก่บริษัท

     

    7. การพัฒนากรรมการ และผู้บริหาร

    คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้มีการฝึกอบรม และให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องในระบบการกำกับดูแลกิจการของบริษัท เช่น กรรมการ กรรมการตรวจสอบ ผู้บริหาร และเลขานุการบริษัท เป็นต้น เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง การฝึกอบรม และให้ความรู้อาจกระทำเป็นการภายในบริษัท หรือใช้บริการของสถาบันภายนอกก็ได้ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือมีกรรมการเข้าใหม่ ฝ่ายจัดการจะจัดให้มีเอกสารหรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการเข้าใหม่ รวมถึงจัดให้มีการแนะนำลักษณะธุรกิจ แนวทางการดำเนินธุรกิจ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาโดยผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้กรรมการรายใหม่มีความเข้าใจในธุรกิจ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่

    คณะกรรมการบริษัทจะจัดให้มีการหมุนเปลี่ยนงานที่ได้รับมอบหมายตามความถนัดของผู้บริหารและพนักงาน โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของงานและเวลาเป็นหลัก โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารจะกำหนดช่วงเวลา และพิจารณาผลการปฏิบัติงานดังกล่าวเพื่อเป็นแผนพัฒนาและสืบทอดงานของบริษัท ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาผู้บริหารและพนักงานให้มีความรู้ความสามารถในการทำงานมากขึ้น และให้สามารถทำงานแทนกันได้

     

    8. ความซื่อสัตย์ และจริยธรรม

    ความซื่อสัตย์ และจริยธรรมเป็นรากฐานทางธุรกิจที่สำคัญของบริษัทตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียเชื่อมั่นว่าบริษัท และพนักงานจะประพฤติปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบอย่างสูงสุด พนักงานทุกคนได้รับการปลูกฝังให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ซื่อตรง ความเอาใจใส่ ความน่าเชื่อถือ ความจงรักภักดี ความไว้วางใจ และการปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ บริษัทจึงถือว่าความซื่อสัตย์ และจริยธรรมเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของพนักงานทุกคน

    บริษัทในกลุ่มของ TPBI กรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน มีความมุ่งมั่นที่จะรักษามาตรฐานในเรื่องความซื่อสัตย์ และจริยธรรม ซึ่งรวมถึง

    (8.1) การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ

    (8.2) ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต้องได้รับการเปิดเผยและจัดการอย่างเหมาะสม ให้มั่นใจว่าบุคคลที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอย่างมีสาระสำคัญไม่มีส่วนในกระบวนการตัดสินใจในเรื่องนั้น

    (8.3) ไม่อนุญาตให้พนักงานรับหรือเสนอ เงินสด ของขัญที่มีมูลค่า หรือผลประโยชน์อื่นใด ซึ่งอาจตีความว่าเป็นการรับหรือให้สินบน

    (8.4) ประเด็นด้านจริยธรรมต้องได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส

     

Document

Good Corporate Governance
Read more
Business Ethics and Code of Conduct
Read more