Skip to main content

การจัดการห่วงโซ่คุณค่าอย่างยั่งยืน

          สำหรับบริษัทแล้วห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำล้วนมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นบริษัทจึงให้ความสำคัญต่อการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนสู่คู่ค้า โดยใส่ใจตั้งแต่การคัดเลือกคู่ค้าที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม มีความเป็นมืออาชีพ พร้อมปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อความยั่งยืนภายใต้แผนบริหารจัดการความเสี่ยง สร้างโอกาสที่เกิดขึ้นร่วมกันภายใต้ระบบการติดตาม ตรวจประเมินอย่างมีประสิทธิภาพ  อีกทั้งบริษัทยังให้ความสำคัญต่อการวางยุทธศาสตร์การบริหารงานจัดซื้อจัดจ้าง และการจัดการด้านการบริหารห่วงโซ่อุปทานที่มุ่งเน้นคุณภาพสินค้าและบริการ โดยกำหนดให้มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยง โดยคำนึงถึงคุณภาพ ปริมาณ การส่งมอบสินค้าและบริการที่ได้รับ รวมถึงข้อกำหนดตามกฎหมาย และระบบการบริหารจัดการด้านต่างๆ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพ ปริมาณ การส่งมอบสินค้าและบริการ รวมทั้งความไว้วางใจของผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินงานต่างๆขององค์กร มีการจัดทำจรรยาบรรณการปฏิบัติต่อคู่ค้าของบริษัท (TPBI - SUPPLIER SUSTAINABLE CODE OF CONDUCT) สำหรับคู่ค้า และจรรยาบรรณในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ (TPBI PURCHASER CODE OF CONDUCT) สำหรับพนักงาน เพื่อให้ทั้งคู่ค้าและพนักงานยึดถือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยมีเนื้อหาและขอบเขตของแนวทางการปฏิบัติภายใต้กฎหมายระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมประเด็นด้านจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ สิทธิมนุษยชนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ตามหลัก 4 ประการดังนี้

  • ความคุ้มค่า (Value of Money) คู่ค้าและพนักงานของบริษัทต้องคำนึงถึงต้นทุน คุณภาพ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการจัดซื้อจัดจ้างทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยให้มีการเปรียบเทียบทางเลือกต่างๆ พร้อมปัจจัยด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านการตลาด , ด้านการเงิน , ด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มาประกอบการพิจารณา ซึ่งไม่ได้ถือราคาต่ำสุดในการตัดสินใจจัดซื้อจัดจ้างเสมอไป ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับคะแนนของความคุ้มค่าในงาน (Value Score) ของกระบวนการคัดเลือกคู่ค้าที่จะยึดถือเป็นสำคัญ
  • คุณธรรมและความโปร่งใส (Integrity & Transparency) คู่ค้าและพนักงานของบริษัทต้องดำเนินตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเปิดเผย และต้องเปิดโอกาสให้คู่ค้าทุกรายสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงคุณสมบัติและความสามารถในการรับงานของกลุ่มงานต่างๆของคู่ค้าเป็นหลัก มีการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้เชี่ยวชาญ และฝ่ายที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท มีโอกาสรับทราบข้อมูลในการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างเพียงพอ และเสมอภาคกันในเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ผลการพิจารณาคัดเลือกจะต้องแจ้งให้ผู้บริหารและ/หรือคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ได้รับทราบด้วย
  • ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness) พนักงานของบริษัทต้องพิจารณาถึงความต้องการในการจัดซื้อจัดจ้างให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงทิศทางของสภาวะตลาดด้านต่างๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีการวิเคราะห์และจัดทำแผนงานเพื่อใช้ในการกำหนดเป้าหมายการคัดเลือกว่า วิธีการจัดซื้อจัดจ้างรูปแบบใดเป็นประโยชน์และเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้นมากที่สุด รวมทั้งมีการประเมินผลการจัดซื้อจัดจ้างรายเดือน รายไตรมาส และรายปี เพื่อนำผลที่ได้ไปปรับปรุงและแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น
  • ความรับผิดชอบต่อผลสำเร็จของงาน (Accountability) พนักงานของบริษัทต้องยึดหลักความรับผิดชอบต่อมาตรฐานจริยธรรมหรือจรรยาบรรณวิชาชีพ รวมทั้งคำนึงถึงความถูกต้อง การใช้อำนาจหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และรับผิดชอบต่อผลของการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยประเมินจากมุมมองความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

แนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้า
Supplier Sustainable Code of Conduct

บริษัทมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และตามหลักบรรษัทภิบาล ควบคู่ไปกับการดูแล ส่งเสริม สนับสนุนต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความสมดุลในทุกๆ ด้าน อยู่ร่วมกัน เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังได้เผยแพร่นโยบายนี้ และสนับสนุนส่งเสริมให้คู่ค้านำหลักการดังกล่าวไปปฏิบัติ เพื่อขยายผลออกไปสู่สังคมในวงกว้างด้วย ดังนั้นเพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน บริษัทจึงได้จัดทำแนวทางการปฏิบัติฉบับนี้ขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางให้คู่ค้านำไปปฏิบัติ

1)   จรรยาบรรณด้านธุรกิจ
   บริษัทมุ่งเน้นการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีจริยธรรม โปร่งใส อย่างเคร่งครัด สามารถตรวจสอบได้ และจะไม่ทำการใดๆ อันเป็นวิธีที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ทุกรูปแบบ แต่จะดำเนินการให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทด้วยความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยกำหนดให้มีการดำเนินการดังนี้

  • การรักษาความลับระหว่างกัน
  • ละเว้นการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และ/หรือผลประโยชน์ทับซ้อน
  • ละเว้นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
  • กำหนดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน
  • การมีส่วนร่วมในการพัฒนาและมีความรับผิดชอบต่อสังคม
  • กำหนดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน
  • การมีส่วนร่วมในการพัฒนาและมีความรับผิดชอบต่อสังคม

2)  จรรยาบรรณด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน
     บริษัทสนับสนุนและเคารพหลักการด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล รวมทั้งหมั่นตรวจตราดูแลมิให้ธุรกิจของบริษัทเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการยอมรับหลักปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโลก เช่น หลักสิทธิมนุษยชนขององค์การ สหประชาชาติ โดยกำหนดรายละเอียด ดังนี้

  • คู่ค้าควรให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา เพศ การศึกษา ความพิการ รวมถึงการปฏิบัติต่อพนักงานของตนอย่างเป็นธรรมตามมาตรฐานสากลและกฎหมาย
  • คู่ค้าจะต้องไม่มีการบังคับใช้แรงงานโดยที่พนักงานของตนไม่สมัครใจ
  • คู่ค้าจะต้องไม่จ้างแรงงานเด็กที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด และต้องจัดให้แรงงานได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนดทุกประการ
  • คู่ค้าจะต้องจ่ายค่าจ้างและผลประโยชน์อื่นใดที่พนักงานของตนพึงได้รับอย่างถูกต้อง เป็นธรรม ตรงตามกำหนดเวลา
  • คู่ค้าจะต้องไม่ให้พนักงานของตนทำงานเป็นเวลานานเกินกว่ากฎหมายกำหนด หากมีความจำเป็นต้องให้ทำงานล่วงเวลา จะต้องเป็นไปตามความสมัครใจ

3)  ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม
 บริษัทให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติงานที่คำนึงถึงมาตรฐานการบริหารจัดการด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และอาชีวอนามัยอย่างต่อเนื่อง กำหนดและทบทวนนโยบายคุณภาพ ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกำหนดรายละเอียดดังนี้

  • คู่ค้าจะต้องจัดเตรียมสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัย และมีสุขอนามัยให้แก่พนักงานของตน รวมถึงจัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้แก่พนักงานของตนอย่างเพียงพอและเหมาะสม
  • กรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินคู่ค้าจะต้องเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจะต้องกำหนดให้มีการประเมินสถานการณ์ มาตรการการจัดการด้านผลกระทบ แผนการเตือนภัย และจัดให้มีการอบรมให้แก่พนักงานอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม
  • คู่ค้าจะต้องมีนโยบายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน และมีความมุ่งมั่นในการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและเหมาะสม
  • คู่ค้าจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วย ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้อย่างเคร่งครัด
  • คู่ค้าจะต้องมั่นใจว่าในกระบวนการผลิต มีการติดตั้งระบบกำจัดและจัดการของเสีย การปล่อยมลพิษทั้งทางอากาศ บนดิน และการระบายน้ำทิ้งที่เหมาะสม ปลอดภัย โดยจัดให้มีการเฝ้าระวัง ควบคุม และตรวจสอบ คุณภาพอยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าของเสียและผลิตผลจากการผลิตที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษใดๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

4)  จริยธรรมและการปฏิบัติตามกฎหมาย

  • คู่ค้าจะต้องดำเนินธุรกิจด้วยคุณธรรม จริยธรรม และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
  • คู่ค้าจะต้องดำเนินธุรกิจโดยปราศจากการให้สินบนในทุกรูปแบบ
  • คู่ค้าจะต้องดำเนินธุรกิจด้วยการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
  • คู่ค้าจะต้องมีการจัดทำบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจอย่างถูกต้องและครบถ้วน
  • คู่ค้าจะต้องปกป้องข้อมูลที่เป็นความลับของลูกค้า

คัดเลือกและตรวจประเมินคู่ค้าที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและการประเมินความเสี่ยงด้านธุรกิจ ควบคู่กับด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) โดยจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท สำหรับ   คู่ค้ารายเดิม (Existing Supplier) และคู่ค้ารายใหม่ (New Supplier) และนำผลมาจัดกลุ่มคู่ค้าเพื่อกำหนดกลยุทธ์และวางแผนพัฒนาคู่ค้าให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัท ซึ่งประเมินโดยฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างฯ ควบคู่ไปกับแบบประเมินตนเองของคู่ค้าด้านความยั่งยืน 

บริษัทคำนึงถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ ของคู่ค้า จากการวิเคราะห์ความสำคัญและการประเมินความเสี่ยงของ   คู่ค้า ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่

  1. การวิเคราะห์การใช้จ่าย (Spend analysis) ครอบคลุมทุกกลุ่มงานจัดซื้อ การใช้จ่ายของคู่ค้าทุกรายที่มียอดการใช้จ่ายสูง (Top spender)
  2. การประเมินความเสี่ยงของการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการของคู่ค้า (Risk assessment) มุ่งเน้นการระบุความเสี่ยงต่อความยั่งยืนขององค์กรในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น จำนวนแหล่งที่มาของสินค้าและบริการที่มีอยู่ ผลกระทบที่มีต่อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การใช้แรงงานเด็ก ผลกระทบต่อการซื้อวัตถุดิบที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น
  3. การวิเคราะห์ความสำคัญของคู่ค้า (Critical analysis) ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์ ดังนี้
    • Partner (High Risk High Expenditure) มีความเสี่ยงสูงและมีความสำคัญสูง
    • Leverage (Low Risk High Expenditure) มีความเสี่ยงต่ำและมีความสำคัญสูง
    • Risk (High Risk Low Expenditure) มีความเสี่ยงสูงและมีความสำคัญต่ำ
    • Shop (Low Risk Low Expenditure) มีความเสี่ยงต่ำและมีความสำคัญต่ำ
  4. การจัดทำมาตรการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากคู่ค้า (Mitigation measures) พิจารณาจากผล การประเมินความเสี่ยงและการวิเคราะห์ความสำคัญของคู่ค้า เพื่อช่วยให้บริษัทมีความพร้อมในการรับมือกับคู่ค้าที่มีความเสี่ยงสูงและความสำคัญสูง โดยมีมาตรการ
    หลัก ๆ ดังนี้
    • คู่ค้าหลัก หมายถึง คู่ค้าที่มียอดการใช้จ่ายสูงและมีความเสี่ยงในระดับสูงมากหรือสูง สินค้าทดแทนยาก และอยู่ในกลุ่มของชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่สำคัญ โดยจะถือว่าคู่ค้าเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่ม High Risk Tier ที่จะต้องได้รับการตรวจสอบทุกปี มีการเยี่ยมชมพื้นที่และสัมภาษณ์ผู้บริหารและพนักงาน ทั้งนี้ คู่ค้าดังกล่าวต้องกำหนดแผนและแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งต้องมีแผนการตรวจสอบเพื่อดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้า
      เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ ชุมชนและสิ่งแวดล้อม
    • คู่ค้ารอง หมายถึง คู่ค้าที่มียอดการใช้ปานกลางหรือต่ำและความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลางหรือต่ำ หรือไม่ได้อยู่ในกลุ่ม High Risk Tier จะต้องผ่านการประเมินคู่ค้า หรือการตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้าและผ่านการประเมินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน
(Sustainable procurement) 

คือขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรที่นำปัจจัยทางสังคม (Social) เศรษฐกิจ (Economics) และสิ่งแวดล้อม (Environment) มาพิจารณาควบคู่ไปกับราคา คุณภาพ การส่งมอบสินค้าและบริการเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
(The procurement process of the organization brings environmental (E), social (S), governance and economy (G) to be considered along with price, quality, and delivery of goods and services to benefit society, economy and reduce environmental impact.)

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่า่นมาบริษัทได้นำเกณฑ์ใน มิติสังคม มิติเศรษฐกิจ และมิติสิ่งแวดล้อม มาเป็นเกณฑ์ในการให้คะแนนเพื่อตัดสินใจคัดเลือกผู้ขาย

  • ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental): การปกป้องและใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า สนับสนุนคู่ค้าที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ISO 14001
  • ด้านสังคม (Social) : การจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก เช่น การต่อต้านการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย การคำนึงถึงชีวิตแรงงาน  หรือพิจารณาผ่านมาตรฐานที่บริษัทผู้ขายได้รับ เช่น มาตรฐานแรงงานไทย (มรท) ISO 45001, Sedex, BSCI เป็นต้น
  • ด้านบรรษัทภิบาล (Governance) :  การต่อต้านการติดสินบนและการต่อต้านคอร์รัปชั่นทุกกรณี (Business Ethics & Anti-Corruption) รวมไปถึง การเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

    sup 1

พัฒนาและยกระดับศักยภาพคู่ค้าสู่ความยั่งยืน

            บริษัทมุ่งดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง ผ่านแนวทางการพัฒนาศักยภาพคู่ค้า โดยกำหนดให้มีการจัดทำแผนธุรกิจร่วมกัน ซึ่งเป็นการยกระดับการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทและคู่ค้า เพื่อพัฒนาแผนงานและโครงการใหม่ ๆ นอกจากนี้ บริษัทยังจัดให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คู่ค้า ผ่านกิจกรรมอบรมที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทั้งในการแข่งขันและการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนร่วมกัน อาทิ การบรรยายให้ความรู้คู่ค้าเกี่ยวกับมาตรฐานต่าง ๆ ส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจและแนวทางปฏิบัติสู่ความยั่งยืนสำหรับคู่ค้าธุรกิจ พร้อมกันนี้บริษัทมีการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพคู่ค้าเพื่อความยั่งยืน อาทิ โครงการพัฒนามาตรฐาน BRC การปรับปรุงระบบบริหารคุณภาพ ISO พร้อมทั้งกำหนดให้มีการตรวจเยี่ยมสถานประกอบการของคู่ค้าประจำปี เพื่อทบทวนผลการดำเนินงานตามข้อกำหนดของบริษัท การปฏิบัติตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องซึ่งครอบคลุมถึงการดำเนินงานด้านความยั่งยืนทั้ง 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจและบรรษัทภิบาล รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และรับฟังข้อเสนอแนะที่สามารถร่วมมือกันยกระดับศักยภาพและการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในปีที่ผ่านมามีคู่ค้าที่ได้รับคำแนะนำ และได้รับ  Certificate ISO9001:2015 จำนวน 2 ราย และมีการเข้าให้คำแนะนำแลกเปลี่ยนความรู้ จำนวน 2 ราย